เครื่องราชเบญจราชกกุธภัณฑ์
ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, วาลวิชนี (พัชนี,พระแส้จามรี), ฉลองพระบาทเชิงงอน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี
พระมหาพิชัยมงกุฎ (พระ-มะ-หา-พิ-ไช-มง-กุด)
เดิมเรียกว่า พระมหามงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะเป็นมงกุฎทรงกระโจมปลายเรียวแหลม ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ประดับด้วยเพชรและอัญมณีต่างสี
พระแสงขรรค์ชัยศรี (พฺระ-แสง-ขัน-ไช-สี)
หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นพระขรรค์โบราณจมอยู่ในทะเลสาบ ณ เมืองเสียมราฐ (เสียม-ราด) ชาวบ้านไปหาปลาทอดแหได้พระขรรค์นี้มา จึงนำมาให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร [อะ-ไพ-พู-เบด] (แบน) ผู้สำเร็จราชการเมืองเขมรในสมัยนั้น เห็นเป็นสิ่งสำคัญจึงให้กรมการเมือง [กฺรม-มะ-กาน-เมือง]เชิญเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงรับแล้วโปรดให้ทำด้ามและฝัก พระราชทานชื่อว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี”
ธารพระกรชัยพฤกษ์ (ทาน-พระ-กอน-ไช-ยะ-พรึก)
ธารพระกรเป็นราชาศัพท์ของคำว่า ไม้เท้า ธารพระกรชัยพฤกษ์ เป็นหนึ่งใน ๕ ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์กลึงเป็นลำกลม หุ้มทองคำเกลี้ยงทั้งองค์ ส่วนหัวทำเป็นหัวเม็ดหุ้มทองคำ ส่วนส้นเป็นสามง่าม ทำด้วยเหล็ก ธารพระกรองค์นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อต้นแผ่นดิน แต่เดิมเรียกว่า “ธารพระกรง่าม” ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในหมายรับสั่งว่าด้วยเครื่องราชูปโภคจะสร้างใหม่ในสมัยนั้น
วาลวิชนี (วา-ละ-วิด-ชะ-นี)
จัดเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ หมายรวมทั้งพัชนีและพระแส้จามรี
พัชนี คือ พัดทำด้วยใบตาลรูปกลมรี ขอบเลี่ยมทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดีนมพัดรูปอย่างพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดีทั้งสองข้างด้ามพัดทำด้วยทองคำเป็นคันกลมยาวจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ส้นทำเป็นหัวเม็ดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อต้นแผ่นดิน เรียกว่า “พัชนีฝักมะขาม”
พระแส้จามรี คือแส้ทำด้วยขนหางจามรี เป็นพุ่มสีขาวนวลประกอบติดกับด้ามทำด้วยแก้ว ส่วนจงกลรับพู่ขนจามรีและส้นด้ามทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นและให้ใช้คู่กับพัชนีฝักมะขามตั้งแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแผ่นดินนั้นเป็นต้นมา
ฉลองพระบาทเชิงงอน
เป็นหนึ่งใน ๕ ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (เบ็น-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน) ลักษณะเป็นอย่างรองเท้าแตะ ปลายแหลมงอนขึ้นเล็กน้อย ส่วนหุ้มหลังพระบาททำด้วยทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดี พื้นฉลองพระบาททำด้วยทองคำบุผ้ากำมะหยี่สีแดงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น
เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ (เครื่อง-ขัด-ติ-ยะ-ราด-ชะ-วะ-รา-พอน)
หมายถึง เครื่องประดับอันเป็นมงคล หัวหน้าพราหมณ์นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในพระราช พิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์ประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด] มี ๓ รายการ ได้แก่ – พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ เป็นสร้อยที่ทำจากฝ้าย พราหมณ์เป็นผู้จัดทำตามกรรมวิธีของพราหมณ์ ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาซ้าย – พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ (พฺระ-สัง-วาน-นบ-พะ-รัด-ราด-ชะ-วะ-รา-พอน) เป็นสร้อยทองคำ ๒ เส้นคู่กัน มีดอกประจำยาม ๒๗ ดอก ทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ ๙ ชนิดได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์ ดอกละชนิดสลับกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา – พระสังวาลพระนพ เป็นสร้อยอ่อนทำด้วยทองคำ ๓ เส้นเรียงกัน มีดอกประจำยามทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ ๙ ชนิด เชื่อมสร้อยทั้ง ๓ เส้นเข้าด้วยกัน ทรงรับแล้วทรงสวมพระองค์เฉียงพระอังสาขวา
พระธำมรงค์ (พระ-ทำ-มะ-รง)
คำว่า ธำมรงค์ หมายถึง แหวน มาจากภาษาเขมร ทมฺรง่ [โตม-ร็วง] ซึ่งแปลว่า ทรวดทรงและเครื่องทรงของกษัตริย์ ผู้รู้กล่าวว่า คำนี้ในภาษาเขมรโบราณแปลว่า เครื่องประดับนิ้ว แหวน อาวุธ หนังสือ “ราชูปโภคและพระราชฐาน” กล่าวถึงพระธำมรงค์ ๒ องค์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา [วิ-เชียน-จิน-ดา] และ พระธำมรงค์รัตนวราวุธ [รัด-ตะ-นะ-วะ-รา-วุด]
พระแสงอัษฎาวุธ (พระ-แสง-อัด-สะ-ดา-วุด)
พระแสงเป็นราชาศัพท์ หมายถึง อาวุธ ส่วน อัษฎาวุธ หมายถึง อาวุธ ๘ อย่าง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก) มีการถวายพระแสงอัษฎาวุธแด่พระมหากษัตริย์
ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 131.22 KBs
Upload : 2019-04-07 00:26:05
|
|
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
|
สถานะ : ผู้ช่วยผู้ดูแลระบบ
ภาษาไทย
|
|
|