kruoil Article


ยุคสมัยของดนตรีไทย



ดนตรีไทย
ดนตรีไทย เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย, จีน, อินโดนีเซีย และอื่นๆ เครื่องดนตรีมี 4 ประเภท ดีด สี ตี เป่า ดนตรีไทย ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชนชาติไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณซึ่งดนตรีไทยได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะขอแบ่งยุคของดนตรีไทย เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษา ดังนี้
สมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
จากประวัติศาสตร์ชนชาติไทยเดิมที่ได้อพยพมาจากแถบภูเขาอัลไต และอพยพเรื่อยมาจนถึงแหลมทองในปัจจุบันและได้ปรากฏหลักฐานเป็นจดหมายของอาจารย์ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งอาจารย์มนตรี ตราโมท กล่าวว่า( สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 3 อ้างใน มนตรี ตราโมท. 2507 : ไม่ปรากฏหน้า)  ดังนี้ “จดหมายของอาจารย์ผู้หนึ่ง ในโรงเรียนที่เซียงไฮ้ ซึ่งมีมาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยเรา ลงในวันที่ 11 ตุลาคม 2484 กล่าวว่า เขาได้ทำการศึกษาค้นคว้าตำนานดึกดำบรรพ์ของชาติไทยในดินแดนจีน ได้หลักฐานไว้หลายอย่าง มีความในหนังสือฉบับนี้กล่าวว่า คนไทยมีอุปนิสัยทางศิลปะทางดนตรีมาแต่ดึกดำบรรพ์” จากข้อความในจดหมายที่ยกมา แสดงให้เห็นว่า ดนตรีไทยมีมาควบคู่กับคนไทย มาตั้งแต่โบราณก่อนการอพยพลงมาสู่แหลมทองในปัจจุบัน และยังมีเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับดนตรีไทย ซึ่ง อาจารย์มนตรีตราโมท ได้กล่าวถึงความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นมาเกี่ยวกับดนตรีไทยและเพลงไทยอีกว่า (มนตรี ตราโมท. 2507 : ไม่ปรากฎหน้า) “ในตอนกลางลุ่มแม่น้ำแยงซี เป็นที่ตั้งของอาณาจักรฌ้อ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ โดยมากกล่าวรับรองว่า ฌ้อในสมัยนั้นคือชนชาติไทย พระเจ้าฌ้อปาออง ซึ่งครองราชอยู่ระหว่าง พ.ศ. 310 ถึง 343 ว่าเป็นกษัตริย์ไทย ในสมัยนั้นจีนได้เครื่องดนตรีไปจากชนชาติในดินแดนตอนใต้หลายอย่าง ที่ปรากฏชัดคือ กลองชนิดหนึ่งซึ่งจีนใช้อยู่จนทุกวันนี้เรียกว่า“น่านตังกู” อันหมายถึง กลองชาวใต้ ลักษณะเป็นกลองขึงหนังตรึงด้วยหมุดทั้งสองหน้าอย่าง “ กลองทัด ” ของไทยเราไม่ผิดเพี้ยนเลย และรูปร่างก็แตกต่างจากกลองชนิดอื่นๆ ของจีน ซึ่งเข้าใจว่าอาจได้ไปจากกลองของชนชาติไทย ในสมัยครั้งกระโน้นก็เป็นได้” หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึง “เครื่องดนตรีไทย” และเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ ของไทยก็คือ“แคน” โดยมีหลักฐานยืนยัน ซึ่งมีบันทึกของจีนได้บันทึกไว้ว่า (สงบศึก ธรรมวิหาร.2540 : 5) “ที่เมือง CHANGSHAแคว้นยูนาน เป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง เขาได้พบศพ 2 ศพ ที่เกรียวกราวมาก คือ เป็นศพที่มีอายุตั้ง2,000 ปี แล้วร่างกายอยู่อย่างเก่าเอาอะไรกดเข้าไปก็ไม่เป็นอะไร แล้วเครื่องแต่งกายก็วิจิตรพิศดารมาก รัฐบาลของเขาให้ชื่อศพนี้ว่า “The Duke of Tai and his Consart” ในข้าง ๆ ศพ ปรากฏสิ่งของอยู่ 2 อย่างคือ เครื่องใช้ประจำวันเป็นเครื่องเขิน เครื่องเขินที่คล้าย ๆ กับเชียงใหม่เรานี้ แล้วก็เป็นจำนวนนับร้อย แล้วอีกสิ่งหนึ่งก็เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ตรงกับของเราที่เรียกว่า แคน ในเรื่องที่เกี่ยวกับแคนนี้ สุมาลี นิมมานุภาพ ยังเล่าเพิ่มเติมพอสรุปได้ว่า จากบันทึกของจีนที่บันทึกว่าจีนมีแคนใช้ประมาณ 3,000 ปี แต่จีนมีแคนใช้หลังไทย เพราะฉะนั้นแคนไทยต้องมีอายุมากกว่า 3,000 ปี ที่กล่าวว่าจีนมีแคนใช้หลังไทยเพราะถ้าใช้หลังการเปรียบเทียบจะเห็นว่าแคน ของจีนสวยงามประณีต กระทัดรัดกว่าของไทยเพราะจีนได้แบบอย่างและรูปแบบไปจากแคนไทย ซึ่งมีรูปร่างยาว ใช้วัสดุที่ไม่ทนทานเท่าแคนของจีน ซึ่งเมื่อจีนเห็นข้อบกพร่องของแคนไทยแล้วจึงนำไปปรับปรุงให้กระทัดรัดและสวย งามจากแคนของไทย ได้พัฒนาเป็นเครื่องดนตรีอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ขลุ่ย และปี่ซอ เพราะขลุ่ยทำง่ายกว่าแคน เพียงแต่เจาะรูที่ไม้ไผ่ก็เป่าได้แล้ว อย่างเช่น ขลุ่ยผิวของจีน ส่วนปี่ซอก็คือลูกของแคนนั้นเองใช้ลิ้นโลหะประกอบกับไม้ไผ่เข้าแล้วเจาะรู เพื่อบังคับเสียง อย่างเช่น ปี่ซอของทางภาคเหนือในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาจึงใช้ไม้ทำเครื่องบังคับลมเรียกว่า “ดาก” เข้าไปในตัวของไม้ไผ่แล้วเจาะลิ้น (ปากนกแก้ว) ทำให้เกิดเสียงเช่น ขลุ่ยชนิดต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 6 อ้างใน จารุวรรณ ไวยเจตน์. 2529 : 213)
สรุป ดนตรีไทย มีประวัติความเป็นมาควบคู่กับชนชาติไทย ก่อนที่จะอพยพมาสู่ถิ่นแหลมทองในปัจจุบัน เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ค้นพบคือ กลองและแคน ต่อมาได้พัฒนาจากแคนเป็นปี่ซอและขลุ่ย ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า เพราะทำได้ง่ายเพียงแต่เจาะรูแล้วทำเครื่องบังคับลมก็สามารถเป่าเป็นเสียงดนตรีได้แล้ว
        สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
          การดนตรีในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนับเป็นสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะว่า เรื่องราวชนชาติไทยปรากฏหลักฐานเด่นชัดขึ้นในสมัยสุโขทัย เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยและจารึกเรื่องราวต่างๆ ลงในศิลา และจากศิลาจารึกสมัยสุโขทัยนี้ ทำให้ทราบประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างดี ( เฉลิม พงศ์อาจารย์. 2529 : 90)เพราะในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่จารึกเป็นคำสั้นๆ ว่า “ เสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ( สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540: 9 อ้างใน ณรงค์ชัย ปิฎกรัชน์. 2528 : 17) ทำให้เราทราบถึงดนตรีไทยในสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดีมีความกว้างขวางมากมาย เสียงพาทย์ หมายถึง การบรรเลงวงปี่พาทย์ เสียงพิณ หมายถึง             วงเครื่องสาย เป็นต้น ทวีสิทธิ์ ไทยวิจิตร ได้กล่าวถึงเครื่องดนตรีไทยในสมัยสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่า เครื่องดนตรีไทย มีกลองสองหน้า แตรงอน (คล้ายเขาสัตว์ทำด้วยโลหะ ) แตรสังข์ (ทำจากหอยสังข์) ตะโพน ฆ้อง กลองทัด ฉิ่ง บัณเฑาะ กรับ กังสดาล มโหระทึก ซอสามสาย ระนาด ปี่ไฉน (สงบศึก ธรรมวิหาร. 2540 : 9)
สรุป เครื่องดนตรีไทยในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น เครื่องดนตรีมีครบทั้ง 4 ประเภท อย่างเช่นสมัยปัจจุบัน คือ
เครื่องดีด ได้แก่ พิณ เป็นต้น เครื่องเป่า ได้แก่ ปี่ ขลุ่ย เป็นต้น
เครื่องตี ได้แก่ ระนาด ฆ้อง กลอง เป็นต้นเครื่องสี ได้แก่ ซอ เป็นต้น
        สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
           การดนตรีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนับได้ว่า มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เพราะประชาชนนิยมเล่นดนตรีกันมาก ซึ่งเครื่องดนตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่ได้รับมาจากกรุงสุโขทัย แต่ก็ได้มีการปรับปรุงรูปร่าง ตลอดจนการประสมวงดนตรี และได้มีการพัฒนาคิดค้นเรื่องดนตรีเพิ่มเติม เช่น จะเข้ เป็นต้น ด้วยความเจริญรุ่งเรืองในการดนตรีไทย มีประชาชนนิยมเล่นดนตรีไทยกันอย่างกว้างขวางจะเล่นดนตรีกันจนเกินขอบเขต จนต้องออกกฏมณเฑียรบาล ในรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนารถ           ( พ.ศ.1991 - 2031 ) ว่า “…ห้ามขับร้องเพลงเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี่ตีโทนทับ ในเขตพระราชฐาน” ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏเครื่องดนตรีครบทุกประเภท ดังนี้
เครื่องดีด ได้แก่ กระจับปี่ จะเข้ พิณเพี้ยะ พิณน้ำเต้า
เครื่องสี ได้แก่ ซอสามสาย ซออู้ ซอด้วง
เครื่องตีไม้ ได้แก่ กรับพวง กรับคู่ กรับเสภา ระนาดเอก
เครื่องตีโลหะ ได้แก่ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องคู่ ฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฉิ่งฉาบ มโหระทึก
เครื่องตีหนัง ได้แก่ ตะโพน (ทับ) โทน รำมะนา กลองทัด กลองตุ๊ก
เครื่องเป่า ได้แก่ ปี่ใน ปี่กลาง (คงมีพวกปี่มอญและปี่ชวาด้วย) ขลุ่ย แตรงอน
สรุป ดนตรีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  และมีการคิดค้นเครื่องดนตรีเพิ่มเติม ประชาชนนิยมเล่นดนตรีไทย กันอย่างกว้างขวาง แม้แต่ในเขตพระราชฐาน จนต้องมีการออกกฎมณเฑียรบาลเกี่ยวกับการห้ามเล่นดนตรีไทยในเขตพระราชฐาน

        สมัยกรุงธนบุรี
          เนื่องด้วยในรัชสมัยนี้ปกครองโดย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่าภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น และยังทรงทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ ขุนศึกก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น เช่นเดียวกับขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา 
 
 เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทยอย่างอเนกอนันต์รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น 'วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน' และยังทรงได้รับสมัญญานาม มหาราช แม้ตลอดรัชกาลเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่ 15 ปี ประกอบกับเป็นสมัยแห่งการก่อร่างสร้างเมือง และการป้องกันประเทศเสียโดยมาก วงดนตรีไทยในสมัยนี้จึงไม่ปรากฏหลักฐานไว้ว่า ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้น สันนิษฐานว่า ยังคงเป็นลักษณะและรูปแบบของ ดนตรีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง



สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 
 หลังจากบ้านเมืองได้ผ่านพ้นจากภาวะศึกสงครามและได้มีการก่อสร้างเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น เกิดความ สงบร่มเย็น โดยทั่วไปแล้ว ศิลป วัฒนธรรม ของชาติ ก็ได้รับการฟื้นฟูทะนุบำรุง และส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะ ทางด้าน ดนตรีไทย ในสมัยนี้ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเจริญขึ้นเป็นลำดับ


สมัยรัชกาลที่ 1  


 ในสมัยนี้ดนตรีไทยส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะรูปแบบตามที่มีมาตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พัฒนาขึ้นบ้างในสมัยนี้ก็คือ การเพิ่ม กลองทัด ขึ้นอีก 1 ลูก ใน วงปี่พาทย์ ซึ่ง แต่เดิมมา มีแค่ 1 ลูก รวม มี กลองทัด 2 ลูก มีเสียงสูง (ตัวผู้) ลูกหนึ่ง และ เสียงต่ำ (ตัวเมีย) ลูกหนึ่ง และการใช้ กลองทัด 2 ลูก ในวงปี่พาทย์นี้ ก็เป็นที่นิยมกันมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้
สมัยรัชกาลที่ 2  
ในสมัยนี้เป็นยุคทองของ ดนตรีไทย ยุคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ องค์พระมหากษัตริย์ ทรงสนพระทัย ดนตรีไทย เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ ในทาง ดนตรีไทย ถึงขนาดที่ ทรงดนตรีไทย คือ ซอสามสาย ได้ มีซอคู่พระหัตถ์ชื่อว่า 'ซอสายฟ้าฟาด'  
ซอสายฟ้าฟาด
 ทั้งพระองค์ได้ พระราชนิพนธ์ เพลงไทย ขึ้นเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่ไพเราะ และอมตะ มาจนบัดนี้นั่นก็คือเพลง 'บุหลันลอยเลื่อน' 
การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของดนตรีไทยในสมัยนี้ก็คือ ได้มีการนำเอา วงปี่พาทย์มาบรรเลง ประกอบการขับเสภา เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังมีกลองชนิดหนึ่งเกิดขึ้น โดยดัดแปลงจาก 'เปิงมาง' ของมอญ ต่อมาเรียกกลองชนิดนี้ว่า 'สองหน้า' ใช้ตีกำกับจังหวะแทนเสียงตะโพนในวงปี่พาทย์ ประกอบการขับเสภา เนื่องจากเห็นว่าตะโพนดังเกินไป จนกระทั่งกลบเสียงขับ กลองสองหน้านี้ ปัจจุบันนิยมใช้ตีกำกับจังหวะหน้าทับ ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง
สมัยรัชกาลที่ 3  
 


 วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้ม มาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับ ฆ้องวงใหญ่







สมัยรัชกาลที่ 4  
วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ เครื่องดนตรี เพิ่มขึ้นอีก 2 ชนิด เลียนแบบ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม โดยใช้โลหะทำลูกระนาด และทำรางระนาดให้แตกต่างไปจากรางระนาดเอก และระนาดทุ้ม (ไม้) เรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก นำมาบรรเลงเพิ่มในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ทำให้ ขนาดของ วงปี่พาทย์ขยายใหญ่ขึ้นจึงเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ อนึ่งในสมัยนี้ วงการดนตรีไทย นิยมการร้องเพลงส่งให้ดนตรีรับ หรือที่เรียกว่า 'การร้องส่ง' กันมากจนกระทั่ง การขับเสภาซึ่งเคยนิยมกันมาก่อนค่อย ๆ หายไป และการร้องส่งก็เป็นแนวทางให้มีผู้คิดแต่งขยายเพลง 2 ชั้นของเดิมให้เป็นเพลง 3 ชั้น และตัดลง เป็นชั้นเดียว จนกระทั่งกลายเป็นเพลงเถาในที่สุด (นับว่าเพลงเถาเกิดขึ้นมากมายในสมัยนี้) นอกจากนี้ วงเครื่องสาย ก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน
สมัยรัชกาลที่ 5  
ได้มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นใหม่ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า 'วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์' โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดง 'ละครดึกดำบรรพ์' ซึ่งเป็น ละครที่เพิ่งปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน หลักการปรับปรุงของท่านก็โดยการตัดเครื่องดนตรีชนิดเสียงเล็กแหลม หรือดังเกินไปออก คงไว้แต่เครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้ม นุ่มนวล กับเพิ่มเครื่องดนตรีบางอย่างเข้ามาใหม่ เครื่องดนตรี ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จึงประกอบด้วยระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ขลุ่ย ซออู้ ฆ้องหุ่ย (ฆ้อง 7 ใบ) ตะโพน กลองตะโพน และเครื่องกำกับจังหวะ
สมัยรัชกาลที่ 6  
ได้มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง โดยนำวงดนตรีของมอญมาผสมกับ วงปี่พาทย์ของไทย ต่อมาเรียกวงดนตรีผสมนี้ว่า 'วงปี่พาทย์มอญ' โดยหลวงประดิษฐไพเราะ         (ศร ศิลปบรรเลง)เป็นผู้ปรับปรุงขึ้น วงปี่พาทย์มอญดังกล่าวนี้ ก็มีทั้งวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ เช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ของไทย และกลายเป็นที่นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ มาจนกระทั่งบัดนี้ นอกจากนี้ยังได้มี การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติ เข้ามาบรรเลงผสมกับ วงดนตรีไทย บางชนิดก็นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องดนตรีของไทย ทำให้รูปแบบของ วงดนตรีไทย เปลี่ยนแปลงพัฒนา ดังนี้ คือ การนำเครื่องดนตรีของชวา หรืออินโดนีเซีย คือ 'อังกะลุง' มาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งนี้โดยนำมาดัดแปลง ปรับปรุงขึ้นใหม่ให้มีเสียงครบ 7 เสียง (เดิมมี 5 เสียง) ปรับปรุงวิธีการเล่น โดยถือเขย่าคนละ 2 เสียง ทำให้เครื่องดนตรีชนิดนี้ กลายเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนไทยสามารถทำอังกะลุงได้เอง อีกทั้งวิธีการบรรเลงก็เป็นแบบเฉพาะของเรา แตกต่างไปจากของชวาโดยสิ้นเชิง การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมในวงเครื่องสาย ได้แก่ ขิมของจีน และออร์แกนของฝรั่ง ทำให้วงเครื่องสายพัฒนารูปแบบของวงไปอีกลักษณะหนึ่ง คือ 'วงเครื่องสายผสม'

สมัยรัชกาลที่ 7
          
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสนพระทัยทางด้าน ดนตรีไทย มากเช่นกัน พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ เพลงไทยที่ไพเราะไว้ถึง 3เพลง คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง 3 ชั้น เพลงเขมรลอยองค์ (เถา) และเพลงราตรีประดับดาว (เถา) พระองค์และพระราชินีได้โปรดให้ครูดนตรีเข้าไปถวายการสอนดนตรีในวัง แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ระยะเวลาแห่งการครองราชย์ของพระองค์ไม่นาน เนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์ หลังจากนั้นได้ 2 ปี มิฉะนั้นแล้ว ดนตรีไทย ก็คงจะเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยแห่งพระองค์ อย่างไรก็ตามดนตรีไทยในสมัยรัชกาลนี้ นับว่าได้พัฒนารูปแบบ และลักษณะ มาจนกระทั่ง สมบูรณ์ เป็นแบบแผนดังเช่น ในปัจจุบันนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ในสมัยที่ปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมีผู้นิยม ดนตรีไทยกันมากและมีผู้มีฝีมือทางดนตรี ตลอดจนมีความคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้พัฒนาก้าวหน้ามาตามลำดับ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ได้ให้ความอุปถัมภ์ และทำนุบำรุงดนตรีไทยในวังต่างๆ มักจะมีวงดนตรีประจำวัง เช่น วงวังบูรพา วงวังบางขุนพรหม วงวังบางคอแหลม และวงวังปลายเนิน แต่ละวงต่างก็ขวนขวายหาครูดนตรีนักดนตรีที่มีฝีมือเข้ามาประจำวง มีการฝึกซ้อมกันอยู่เนืองนิจ บางครั้งก็มีการประกวดประชันกัน จึงทำให้ดนตรีไทยเจริญเฟื่องฟูมาก ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ดนตรีไทยเริ่มซบเซาลง อาจกล่าวได้ว่า เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ ดนตรีไทย เกือบจะถึงจุดจบ เนื่องจากรัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายทีเรียกว่า 'รัฐนิยม' ซึ่งนโยบายนี้ มีผลกระทบต่อ ดนตรีไทย ด้วย กล่าวคือมีการห้ามบรรเลงดนตรีไทย เพราะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ใครจะจัดให้มีการบรรเลง ดนตรีไทย ต้องขออนุญาต จากทางราชการก่อน อีกทั้ง นักดนตรีไทยก็จะต้องมีบัตรนักดนตรีที่ ทางราชการออกให้
จนกระทั่งต่อมาอีกหลายปี เมื่อได้มี การสั่งยกเลิก 'รัฐนิยม' ดังกล่าวเสีย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดนตรีไทย ก็ไม่รุ่งเรืองเท่าแต่ก่อน ยังล้มลุกคลุกคลาน มาจนกระทั่งบัดนี้ เนื่องจากวิถีชีวิต และสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมวัฒนธรรมทางดนตรีของต่างชาติ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอันมาก ดนตรีที่เราได้ยินได้ฟัง และได้เห็นกันทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือที่บรรเลงตามงานต่าง ๆ โดยมากก็เป็นดนตรีของต่างชาติ หาใช่ 'เสียงพาทย์ เสียงพิณ' ดังแต่ก่อนไม่


 สมัยรัชกาลที่ 8


พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง









 สมัยรัชกาลที่ 9
ด้วยพระองค์ได้ทรงเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีสากลในแนวดนตรีแจ๊สเป็นพิเศษ แต่ก็มิได้ละทิ้งแขนงดนตรีไทย ทรงให้การอุปถัมป์วงการดนตรีไทยเรื่อยมา พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง
 ผู้ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์มีหลายท่าน ได้แก่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์, ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์           ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์), ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ล.ประพันธ์สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นต้น
  ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครูเอื้อสุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงสุนทราภรณ์ เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
        ในระยะหลังพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆออกมา เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาคือเพลง 'เมนูไข่' เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2538 


 โดยสรุปใจความสำคัญ

 จากสมัยสุโขทัยสืบต่อมาสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ดนตรีไทยจัดเป็นดนตรีที่มีแบบแผนหรือดนตรีคลาสสิก (Classic Music) เครื่องดนตรีไทยนั้นกรมศิลปากร จำแนกไว้รวมทั้งสิ้น 56 ชนิด ประกอบด้วยเครื่องตี เครื่องเป่า เครื่องดีด และเครื่องสี เครื่องดนตรีไทยที่นิยมใช้กันมาก ดังนี้

- เครื่องดีด ได้แก่ พิณน้ำเต้า พิณ เพ้ย กระจับปี่ ซึง จะเข้

- เครื่องสี ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ ซอสามสาย ซอล้อ
- เครื่องตีประเภทไม้ ได้แก่ เกราะ โกร่ง กรับ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ ได้แก่ ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ฆ้อง หุ่ย และเครื่องตีที่ทำด้วยหนัง ได้แก่ กลองทุกประเภท


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 263.22 KBs
Upload : 2018-03-24 11:55:46
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


kruoil
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ศิลปะ


http://


Generated 0.574974 sec.