ชีวิตสั้น....ศิลปะยืนยาว.............................................
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น
เรื่องโดย....ฮักก้า :: thinksea@hotmail.com
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังข้องใจอยู่ว่า วลีนี้มีที่มาอย่างไรกันแน่ ขณะที่บางคนก็เชื่อชนิดปักใจว่า อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านเอื้อนเอ่ยออกมาเป็นคนแรก
ชาวศิลปากร นักศึกษาศิลปะ หรือบรรดา Artist ทั้งหลาย ที่เข้าใจวลีนี้ลึกซึ้งกันแล้ว ก้อย่าเพิ่งทำหน้าเหยเกไปเลยนะคะ ถือว่าคราวนี้เป็นการเล่าสู่ให้คนที่ยังไม่ทราบและสนใจอยากทราบฟังแล้วกัน
คราวหนึ่ง ฉันเคยถามเอากับ ‘สิงห์สนามหลวง’ หรือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ให้ช่วยท่านไขให้ฟัง ในฐานะที่ท่านเป็นผู้รอบรู้ และมีคนยกให้ท่านเป็นเอ็นไซโคพีเดียทางด้านวรรณกรรม แม้ว่าท่านจะเพิ่งแบ่งใจจากงานด้านวรรณกรรมมาให้กับงานด้านทัศนศิลป์ได้ไม่นานก็ตามที
“ผมเคยอ่านมาจากอาจารย์เจตนา ท่านบอกว่า ไอ้คำว่าชีวิตสั้น ศิลปะยาว ความหมายที่ศิลปินแต่ก่อนรับรู้ก็คล้ายกับว่า ต้องเร่งทำงานศิลปะ เพราะว่าชีวิตคนเรามันสั้น แต่ชิ้นงานจะอยู่ต่อไป หลังจากที่เราตายไปแล้ว ท่านไปอ่านมาจากไหนก็ไม่ทราบ ท่านบอกว่ามันเป็นคำกรีก หรือคำลาตินไม่ทราบ” เมื่อเร็วๆนี้ ฉันเพิ่งวางหนังสือเล่มหนึ่งลง หลังจากที่อิ่มเต็มกับความรู้สึกเมื่อได้อ่าน และอยากจะแนะนำให้คนอื่นได้อ่านด้วย เล่มที่ชื่อ ‘ศิลปวิจารณ์ ในทัศนะ ส.ศิวรักษ์’ ซึ่งพิมพ์ขึ้นครั้งแรก ในปี 2547 นี้ โดย สำนักพิมพ์สยาม
ขณะที่บทความและทัศนะทั้งหลายเคยตีพิมพ์กระจัดกระจายในที่อื่นๆ เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ล้าสมัยที่จะนำมาอ่าน ณ เวลานี้
ไม่ว่าจะเป็น...ศิลปะตามความเข้าใจของสามัญชน,สุนทรียศาสตร์เกี่ยวกับอิสตรี,สังคมกับศิลปวัฒนธรรม,เสรีภาพทางวัฒนธรรมในสังคมไทย,อนาคตของราชบัณฑิตยสถาน,จิตรกรรมฝาผนังในปัจจุบัน และอีกหลายเรื่องที่พาให้รู้สึกและรื่นไหลไปกับทัศนะของท่านผู้นี้
หลายอย่างน่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่บางอย่างต้องนำมาขบคิดใหม่ กับความเป็นจริงที่สายตาตัวเองได้แลเห็น
ในบทความแรกที่ชื่อ ‘ศิลปะตามความเข้าใจของสามัญชน’ (ตีพิมพ์ครั้งแรก ฉลองปริญญาศิลปะบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2508 และพิมพ์รวมใน ลายสือสยาม สำนักพิมพ์แพร่พิทยา พ.ศ. 2510) แค่ขึ้นต้นท่อนแรกที่ว่า
“ออกจะเป็นการแปลกสักหน่อย ที่ศิลปินสมัยนี้ มักพากันถือว่าตนเป็นอัจฉริยะไปตามๆกัน และมักดูถูกว่าช่างฝีมือต่ำช้า หาเทียมเทียบ ‘ศิลปิน’ เช่นตนได้ไม่...”
เพียงเท่านี้ก็ทำให้อยากจะอ่านต่อไปให้จบในคราวเดียว ขณะที่ตอนท้ายของบทความนี้ ได้ช่วยตอบที่มาของภาษิตที่นักศึกษาศิลปากร วลีที่ว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ไว้ว่า
ฮิปโปกราตีส แพทย์ชาวกรีก ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง 99 ปี และเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.182 เป็นคนกล่าวขึ้น แต่สลับที่หน้าหลังและฟุ่มเฟือยคำไปอีกหน่อยว่า ‘ชีวิตนี้สั้น แต่ศิลปะอายุยืนยาว’ (Ho Bios Brachus,the de Techne Makre)
ความจริงแล้วเมื่อฮิปโปเกรติสเอ่ยวลีนี้ ท่านหมายจำเพาะเจาะจงถึงศิลปะทางการแพทย์!!..
แต่แล้ววันหนึ่ง เซนเนก้า กวีมีชื่อของกรุงโรม ก็ได้นำเอามาแปลงเป็นภาษาละติน ให้ใช้ได้ทั่วถึงศิลปะทุกสาขาว่า Ars longa vita brevis ขณะในหนังสือ De Bre vitatae Vitae เซนเนก้ากล่าวไว้ว่า คำๆนี้ได้มาจากผู้ที่เป็นใหญ่ยิ่งกว่าแพทย์ทั้งปวง ท่านว่า ชีวิตนี้สั้น แต่ศิลปะอายุยืนยาว แต่เห็นด้วยกันไหมคะว่า จะใครเป็นคนกล่าวขึ้นก่อนก็ตาม สิ่งสำคัญมากกว่าและแน่แท้ที่สุด นั่นคือ เราทำอะไรที่มีคุณค่าทั้งต่อใจเราและผู้อื่น ฝากไว้บนแผ่นนี้บ้างไหม ขณะที่เวลาของชีวิตเราสั้นลงเรื่อยๆ
ในทางกลับกันหวังว่าไมตรีจิตระหว่างผู้อ่านและคอลัมน์นี้จะมีมากขึ้น มีข้อติติง-ชี้แนะ หรืออยากแจ้งข่าวในแวดวงศิลปะ ส่งมาบอกกันได้ที่ thinksea@hotmail.com ...สัปดาห์หน้าพบกันใหม่ค่ะ ที่มา ....http://www.mew6.com/composer/art/history/life_shot.php
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 30.59 KBs
Upload : 2015-06-05 13:30:38
|
|
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
|
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ศิลปะ
|
|
|