AMPAWAN Article


ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น
p19ujcl0n91nbop1paeq1cpvikk5.jpg

พฤติกรรมของครูที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของนักเรียนจากตัวละคร “เจน”
 ในซีรีย์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น 3
 
“บาดแผล… สร้าง “ความเจ็บปวด” และ “ความเข้มแข็ง” ได้ในเวลาเดียวกัน” วลีเด็ดจากซีรีย์วัยรุ่นยอดนิยม “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น”  ซีซั่นที่ 3 ผลงานการกำกับของ ปิง เกรียงไกร วชิรธรรมพร จากค่าย GTH แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของตัวละครที่โลดแล่นในเรื่องได้เป็นอย่างดี ฮอร์โมนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของวัยรุ่นในช่วงมัธยมของโรงเรียนนาดาวนาดาวบางกอก ซึ่งได้ถ่ายทอดเรื่องราวของเป็นไปของวิถีชีวิตของวัยรุ่นในด้านการใช้ชีวิตและในรั้วโรงเรียนได้อย่างหลากหลายและรอบด้าน ตรงไปตรงมาตามสภาพความเป็นจริง
ซีรีย์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น  ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นมัธยมปลายเป็นสำคัญ การแสดงออกให้เห็นถึงบุคลิกภาพ ความคิด และเหตุผลจากการกระทำต่างๆของวัยรุ่น ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครต่างๆอย่างน่าสนใจ การเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของวัยรุ่น ความรักของหนุ่มสาว ความสัมพันธ์ของเพื่อน ความสัมพันธ์กับครอบครัว และ “ความสัมพันธ์ของครูและลูกศิษย์”ที่เมื่อเราดูแล้วก็อดไม่ได้ที่จะย้อนไปถึงช่วงสมัยมัธยมปลายว่าในตอนนั้นพวกเราเป็นอย่างไร
ลักษณะนิสัยตัวละครในเรื่องฮอร์โมนนี้มีความหลากหลาย  โดยจะแสดงออกถึงวัยรุ่นสมัยนี้ได้อย่างชัดเจน เช่น ตัวละครของ “บอส”  เด็กหนุ่มผู้ที่มีความเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง มีอุดมการณ์ จริงจังกับทุกเรื่องจนบางครั้งนำมาสู่ปัญหากับเพื่อนร่วมงานเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน   อีกหนึ่งตัวละครคือ“ขนมปัง” มีความสดใสร่าเริง เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ทำหน้าที่เป็นเป็นรองสภาฝ่ายกิจกรรมและมีความทุ่มเทกับสิ่งต่างๆที่ทำมาก ถือเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า “เด็กป๊อบ” ในโรงเรียน
ตัวละครอีกหนึ่งตัวที่สามารถแสดงถึงความสัมพันธ์ของ “ครูและศิษย์” ได้เป็นอย่างดีคือ “เจน” เด็กสาวที่เคยไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็ก กลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนนาดาวบางกอกในชั้นม.5 มีความมั่นใจในตัวเองสูง ฉลาด ไม่ไว้ใจใครหรือยอมใครง่ายๆ และเก็บซ่อนความรู้สึกเก่ง รับบทโดย เหนิง กัญญาวีร์ สองเมือง 
เจน เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับครูหลายคน ในทั้งทางด้านบวกและลบ ซึ่งการแสดงออกของเจนนั้นจะดีหรือร้ายมักขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของครูที่มีต่อเธอ คนแรก “ครูหญิง” ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในวัยสี่สิบปลายๆ ผู้มีบุคลิกเจ้าระเบียบ แต่งกายเรียบร้อย เสียงดัง เคร่งครัดต่อกฎระเบียบ มีความเป็นหัวโบราณ เชื่อว่าเด็กต้องเคารพครู รับบทโดย คาร่า  พลประสิทธิ์  เหตุการณ์ระหว่างเจนและครูหญิงเริ่มต้นในคาบเรียนวิชาภาษาอังกฤษครูหญิงสอนแปลประโยคและมีการแปลผิดพลาด เจนซึ่งเรียนที่ต่างประเทศตั้งแต่เด็กทำให้มีความชำนาญในภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี เมื่อรู้ว่าแปลผิดจึงค้านขึ้นมาโดยใช้ประโยคที่ว่า “ขอโทษนะคะครูแปลผิด” ทำให้ครูหญิงโกรธและเกิดความอับอายนักเรียนในห้อง จึงทำให้เกิดการโต้เถียงกัน ซึ่งเจนเองก็ไม่เข้าใจว่าเธอผิดอะไรเธอไม่อยากให้เพื่อนจดจำคำศัพท์ผิดๆ ไป และอีกเหตุการณ์หนึ่งคือเมื่อครูหญิงปาปากกาเขียนกระดานใส่นักเรียนที่คุยกันในชั้นเรียนทำให้ตอบคำถามไม่ได้ และให้เจนส่งปากกาคืน แต่เจนกลับปาปากกากลับไปให้ ทำให้ครูหญิงโกรธมาก  โดยเจนให้เหตุผลว่าครูมีสิทธิ์ทำแบบนี้กับนักเรียนหรือไม่และเมื่อครูโดนทำกลับแล้วรู้สึกอย่างไร จึงเกิดการโต้เถียงกันครูหญิงจึงไล่เจนออกนอกห้องพร้อมทั้งตามไปยึดโทรศัพท์ที่เรียนจะนำขึ้นมาเปิดดูภาษาอังกฤษเพื่อเรียนตามเพื่อนจนเกิดการหล่นแตก ทำให้เจนต้องถูกโดนเรียกเข้าห้องปกครองอีกครั้ง ทำให้ความสัมพันธ์ของครูหญิงกับเจนแย่ลง และทำให้เจนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาอย่างชัดเจน เพื่อนบางคนก็มองว่าเจนเป็นเด็กมีปัญหาที่ทำให้ครูต้องโมโหห้องของเขา
ครูอีกหนึ่งท่านที่มีความสัมพันธ์กับเจนคือ “ครูลูกตาล” ครูสาวสอนวิชาดนตรีผมสั้นสุดแนว แต่งตัวทันสมัย นิสัยใจเย็น มีความเข้าใจนักเรียน เป็นเหมือนพี่สาวที่คอยให้คำปรึกษา  ซึ่งดูจะถูกชะตากับเจนเป็นอย่างมากถึงขนาดให้เจนมาเป็นดรัมเมเยอร์ของโรงเรียน และคอยให้คำปรึกษาและดึงสติของเจนกลับคืนมา รับบทโดย โอ๋ หทัยรัตน์  เจริญชัยชนะ  โดยในตอนที่เจนมีปัญหาเรื่องการเสพยา  ครูลูกตาลเป็นคนเรียกเจนเค้าไปคุยถึงปัญหาและข้อเท็จจริงพร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขให้อย่างเข้าใจและไม่ต่อว่าเจน โดยเจนก็เชื่อฟังและมีอารมณ์ที่เย็นขึ้น ในทุกครั้งที่เจนทะเลาะกับครูหญิงครูลูกตาลจะเป็นคนปลอบโยนเจนเสมอ จึงทำให้อดคิดไม่ได้ว่า
 “พฤติกรรมการแสดงออกในด้านบวกและลบของเด็กส่วนหนึ่งมาจากครูหรือไม่”
เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสถาบัน “ครู” เป็นสังคมใหญ่และอยู่ใกล้ชิดกับเด็กรองจากพ่อแม่  โดยแน่นอนว่า “ครู” มีหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนทั้งในด้านเนื้อหา ความรู้และการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง  ซึ่งดิฉันเชื่อว่าครูทุกท่านคงตั้งใจสอนนักเรียนให้ได้รับความรู้อย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ แต่การแสดงออกของครูแต่ละท่านอาจต่างกัน และพฤติกรรมเหล่านั้นส่งผลต่อนักเรียนหรือไม่ อย่างไร ทำไมเจนที่ใครๆ ก็ว่าเป็นเด็กขวางโลก ก้าวร้าว กลับเลือกที่จะมีเรื่องกับครูหญิง แต่ในทางกลับกันกลับเชื่อฟังและปฏิบัติกับครูลูกตาลเป็นอย่างดี
ธนู  แสวงศักดิ์ (อ้างใน เฉลียว บุรีภักดี และคณะ.  2520 : 9) มีความเห็นว่าลักษณะครูที่ดีต้องมี 5 ประการ คือ 
          1. มีความสัมพันธ์กับนักเรียนดี คือ จะต้องสนใจ เอาใจใส่ปัญหาของนักเรียน คอยตอบปัญหา แนะแนว ไม่แสดงอารมณ์รุนแรง รู้จักระงับอารมณ์ มีน้ำใจนักกีฬา อดทน วางตัวเหมาะสมกับเด็ก ไม่สนิทสนมเกินไป รู้จักการชมเชย เปิดโอกาสให้นักเรียนประเมินผลการสอน และตัดสินความดีงามของนักเรียนด้วยเหตุผล
          2. มีความรู้ในอาชีพครู มีส่วนช่วยแนะนำเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนเสมอ รับฟังคำแนะนำของผู้อื่น ปรับปรุงตนเองเสมอ มีความรู้และกิจกรรมของครูที่ทันสมัย เห็นว่าอาชีพครูดี สอนไม่อมภูมิ 
          3. มีจรรยาครู ไม่แพร่ข่าวลือ ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ ไม่ขโมยผลงานของคนอื่น ไม่ให้ร้ายผู้อื่นมีมรรยาทในการติดต่อราชการตามลำดับสายงาน ไม่อ้างอิงศาสนาทำให้ศาสนาอื่นเสียหาย ปรับปรุงตัวเองเสมอ รักษาความลับของนักเรียน ไม่โฆษณาชวนเชื่อ ไม่นำผู้อื่นมานินทาให้นักเรียนฟัง ไม่เรียกร้องเงินเดือนเพื่อตัวเอง ไม่ใช้อิทธิพลส่วนตัวในทางราชการ และปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับทางราชการอย่างเคร่งครัด
          4. มีคุณสมบัติส่วนตัวดี มีความซื่อตรง สติปัญญาดี เชื่อมั่นในตัวเอง มีความคิดริเริ่มกระตือรือร้น รู้จักผ่อนหนักเป็นเบา มีน้ำใจจริง สุภาพอ่อนโยน สุขภาพดี พูดจาชัดเจน
          5. มีรูปร่างท่าทางดี มีใบหน้าสะอาด ตัดผมเรียบร้อย สุภาพ เสื้อผ้า เหมาะสมกับกาลเทศะ
ไม่สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือทานอาหารว่างระหว่างสอน
          จากลักษณะของครูที่ดี 5 ประการ เมื่อนำลักษณะของครูหญิงและครูลูกตาลมาวิเคราะห์แล้ว จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ถึงครูหญิงจะเป็นคนที่มีความตั้งใจในการสอนมากและมีความหวังดีกับนักเรียน แต่ในด้านพฤติกรรมบางอย่างในการแสดงออกอาจส่งผลกระทบต่อเด็กได้ ดังนี้
          จากข้อ 1 ครูหญิงขาดความสัมพันธ์อันดีกับนักเรียน แสดงอารมณ์ที่รุนแรงในตอนที่ทะเลาะกับเจนและขว้างปากกาใส่นักเรียน ตัดสินผู้เรียนจากภายนอก จะสังเกตได้ว่าครูหญิงมีอคติกับเจนเป็นพิเศษตั้งแต่เรื่องที่เจนทักว่าครูแปลผิด และว่าเรื่องที่จบจากนอกแล้วมาทำเป็นสอนครู พร้อมไล่ให้เจนกลับต่างประเทศ
          จากข้อ 2 ครูหญิงไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เมื่อเจนบอกว่าครูหญิงแปลผิดและทักท้วงในห้องเรียน ทำให้ครูหญิงว่าเจนทำไม่เหมาะสม และบอกว่าสอนมานานแล้วไม่มีทางผิด การสอนของครูหญิงก็เป็นการแปลเรื่องจากใบงาน ฟังครู ไม่มีกิจกรรมที่สร้างความสนุกตื่นเต้นให้นักเรียน
          จากข้อ 4 ครูหญิงมีความมั่นใจในตนเองมากเกินไป การใช้น้ำเสียงที่แข็งกระด้างและดุดันทำให้ดูเข้าถึงยากและน่ากลัว ขาดการรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาเช่นการทำโทษนักเรียนทันทีที่เห็นว่าคุยกันโดยไม่ว่ากล่าวตักเตือนก่อน ทำให้มักมีปัญหากับนักเรียนอยู่เสมอ
          ในขณะที่ครูลูกตาลมีคุณสมบัติบางอย่างที่ตรงข้ามกับครูหญิง กล่าวคือ
          จากข้อ 1  ครูลูกตาลมีความเอาใจใส่นักเรียน รู้จักวิธีการพูดให้นักเรียนปรับความเข้าใจกัน ให้นักเรียนไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ ยกตัวอย่างตอนที่เจนทะเลาะกับทีมวงโยธวาทิต ครูลูกตาลก็เข้ามาพูดให้เหตุผลทั้งสองฝ่าย และให้ลองปรับความเข้าใจกัน การที่เมื่อเกิดปัญหาครูลูกตาลมักถามความคิดและเหตุผลของการกระทำของเจนก่อนเสมอ
          จากข้อ 2 ครูลูกตาลมีการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เห็นได้จากในตอนที่เริ่มคาบเรียน ครูตาลเปิดเพลงและให้นักเรียนได้วิเคราะห์ว่ามีเครื่องดนตรีใดบ้าง จังหวะเป็นอย่างไร เมื่อตอบถูกก็มีการชื่นชมนักเรียนและกระตุ้นผู้เรียนได้สนใจตอบคำถาม ลักษณะการคุยที่เป็นกันเอง
          จากข้อ 4 รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาเห็นได้จากเมื่อทราบว่านักเรียนมีปัญหาจะไม่ส่งห้องปกครองอย่างเดียวแต่จะถามเหตุผลความเป็นมาก่อน เมื่อนักเรียนทะเลาะกันก็เข้าไปไกล่เกลี่ยโดยไม่ดุว่า ในตอนที่เจนขว้างปากกาใส่ครูหญิงก็พยายามพูดให้เจนคิดให้ได้ว่า สิ่งที่เจนต้องการคืออะไรและขว้างปากกาไปส่งผลให้อะไรดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็ทำให้เจนเย็นลงและคิดได้
          จากข้อ 5 บุคลิกของครูตาลจะดูห้าว แต่ก็แต่งการตามสมัยนิยมแต่ยังคงไว้ในความสุภาพเรียบร้อย
          จากพฤติกรรมของครูทั้งสองท่าน  จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของครูนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กเช่นกัน เจนก็เป็นคนหนึ่งที่เมื่อรู้สึกว่าครูหญิงมีด้านลบและมองเธอไม่ดี จึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาเพื่อเป็นการตอบโต้ โดยที่เจนไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เธอทำนั้นผิดเพราะครูก็กระทำและพูดจาไม่ดีต่อเจนเหมือนกัน ทั้งที่จริงๆแล้วครูหญิงก็มีความปรารถนาดีกับเจนอยากให้อยู่ในกฎระเบียบและตั้งใจเรียน มีสัมมาคารวะตามแบบไทย โดยที่อาจลืมไปว่าเจนเติบโตมาในสังคมตะวันตกที่เด็กมีความคิดเป็นตัวของตัวเองสูง  ในทางกลับกันเจนกลับรักและเชื่อฟัง ยอมเปิดใจกับครูลูกตาลที่มักคุยด้วยเหตุผล และไม่มองเจนในด้านลบ เปิดใจรับในตัวตนของเจน ทำให้เจนรู้สึกได้ว่าครูมีความปรารถนาดีต่อเจน  ทำให้ผู้ชมทราบว่าจริงๆแล้วเจนไม่ใช้เด็กร้ายกาจอะไร แต่อาจมีปัญหาบางอย่างที่ซ่อนไว้และไม่เปิดใจให้ใครง่ายๆ มากกว่า
          ดังนั้นเมื่อครูเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเด็ก เพื่อที่เด็กจะพร้อมเปิดใจและรับความรู้จากครูอย่างไม่กดดันและมีความสุข ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ โดยสรุปแล้วซีรีย์เรื่อง ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ให้อะไรกับคนดูมากกว่าเรื่องของวัยรุ่นธรรมดา  อยากให้ลองนำข้อคิดจากเหตุการณ์และพฤติกรรมตัวละครต่างๆ มาคิดและเปรียบเทียบกับชีวิตประจำวันเพื่อที่จะเป็นแนวทางการเข้าใจและแก้ไขพฤติกรรมของวัยรุ่นต่อไป เพราะดิฉันเชื่อว่าทุกการกระทำของครูย่อมเกิดจากความรักและเป็นห่วงศิษย์ทั้งสิ้น
                มาถึงตอนนี้อยากให้คุณครูทุกท่านลองย้อนมองตนเองดูว่าตอนนี้ ท่านสวมบทบาทใดระหว่าง
“ครูหญิง” หรือ “ครูลูกตาล”

 

 

         



Content's Picture

Size : 43.42 KBs
Upload : 2016-01-29 16:24:44
Comment(s)

Current Page(s) 1/0
<<
1
>>

Vote this Content ?

0
Vote(s)
Create by :


AMPAWAN
Detail Share
Status : ผู้ใช้ทั่วไป
ภาษาไทย


http://


Generated 0.020104 sec.